บริษัทคลินิคจิต-ประสาท

 ห้องรับแขก

กลับไป ความรู้เรื่องโรคทางจิตเวชและปัญหาพฤติกรรม      

 

 

 

ความเครียดในนักกีฬา

ผศ นพ พนม  เกตุมาน 

ภาควิชาจิตเวชศาสตร์  คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

   ความเครียด(stress)คือผลรวมของปฏิกิริยาตามธรรมชาติของมนุษย์ ที่เกิดขึ้นเมื่อต้องเผชิญกับปัญหา การเปลี่ยนแปลง หรือสถานการณ์ต่างๆซึ่งเป็นสาเหตุของความเครียด(stressors)  ความเครียดที่เหมาะสม(eustress)จะกระตุ้นให้เกิดการปรับตัวแก้ใขปัญหา เกิดการพัฒนาและสร้างสรรค์ แต่ความเครียดที่มากเกินไปจะเป็นผลเสียต่อร่างกาย และจิตใจ เกิดความไม่สบายใจ(distress) ทำให้เกิดอาการต่างๆซึ่งจะทำให้แก้ใขปัญหาได้ต่ำกว่าความสามารถที่แท้จริง กีฬามีคุณสมบัติเป็นสาเหตุของความเครียดอย่างหนึ่ง นักกีฬาก็มีโอกาสเกิดความเครียดได้ โดยเฉพาะกีฬาที่เป็นการแข่งขันกัน กีฬาที่มีผู้ชมมากๆ หรือกีฬาที่มีชื่อเสียงเกียรติยศรางวัลสูง นักกีฬาที่ขาดประสบการณ์ เมื่อมีความเครียดอาจจะแสดงความสามารถไม่ได้เต็มที่เหมือนอย่างที่เคย การรู้จักความเครียดในนักกีฬาจึงเป็นสิ่งสำคัญในการเตรียมนักกีฬาให้สามารถเผชิญความเครียดในขณะแข่งขัน และแสดงความสามารถของตัวเองได้ดีที่สุด

 

ปฏิกิริยาตอบสนองต่อความเครียด

เมื่อคนเราเผชิญกับสิ่งเร้าหรือสาเหตุของความเครียด(stressor)  การรับรู้ทางประสาทสัมผัสต่างๆจะเข้าไปสู่ประสาทส่วนกลางในสมองส่วนที่แปลผล  เกิดความรู้สึก ความคิด โดยเชื่อมโยงกับประสบการณ์เดิมในอดีต เหตุการณ์เดียวกันบางคนรู้สึกตึงเครียด กังวล กลัว แต่บางคนอาจรู้สึกเฉยๆ    ร่างกายและจิตใจจะเกิดปฏิกิริยาตอบสนองเพื่อเตรียมตัวต่อสู้กับปัญหา ตามระยะต่างๆ 3 ระยะ ดังนี้

1.ระยะตื่นตัว(Alarm stage) ต่อมหมวกไตจะถูกกระตุ้นโดยประสาทอัตโนมัติให้หลั่งสารแอดรีนาลีน(adrenaline)  ซึ่งจะออกฤทธิ์ให้หัวใจสูบฉีดโลหิตเร็วและแรงขึ้น ความดันโลหิตขึ้นสูง  การหายใจเร็วและแรงขึ้น ม่านตาขยายกว้าง  กล้ามเนื้อตื่นตัวและมีเลือดไปเลี้ยงมากขึ้น  ประสาทสัมผัสตอบสนองอย่างดี

2. ระยะต่อสู้ (Resistance stage) ร่างกายจะปรับลดสารแอดรีนาลีนลดลง  และลดความตื่นตัวทั่วๆไปโดยยังคงเหลือความตื่นตัวเฉพาะที่จำเป็นในบางอวัยวะ  ต่อมหมวกไตจะหลั่งสาร corticoids

3.ระยะเหนื่อยล้า(Exhaustion stage) อวัยวะต่างๆจะเริ่มทำงานลดลง  รวมทั้งสมองและประสาทอัตโนมัติ

ระยะที่1เป็นระยะความเครียดเฉียบพลัน(acute stress)

 ระยะที่2และ 3เป็นระยะความเครียดเรื้อรัง(chronic stress) ถ้าเกิดขึ้นต่อเนื่องนานๆจะเกิดโรคเครียด(psychosomatic disorders)

 

อาการของความเครียด

ปฏิกิริยาตอบสนองทางร่างกายต่างๆนั้น ร่างกายและจิตใจจะควบคุมให้อยู่ในภาวะสมดุล ไม่มีอาการแสดงรบกวนการแข่งขันกีฬา  แต่บางคนอาจจะมีอาการแสดงออกมาบ้างเมื่อรู้สึกเครียด   อาการของความเครียดมีดังนี้

1.อาการทางกาย

เมื่อจิตใจเกิดความเครียด ประสาทอัตโนมัติภายในร่างกายจะถูกเร้าให้ทำงานเพิ่มขึ้น อวัยวะภายในซึ่งถูกกำกับโดยประสาทอัตโนมัติจะถูกกระตุ้นให้ทำงานมากขึ้นด้วย ได้แก่ หัวใจ หลอดเลือด ปอด กระเพาะอาหาร ลำไส้ กระเพาะปัสสาวะ  ถ้าอวัยวะเหล่านี้ทำงานมากเกินไป จะเกิดโรคทางร่างกายต่างๆ เช่น

หัวใจทำงานมากเกินไป เกิดอาการใจเต้น ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ

หลอดเลือดถูกกระตุ้น เกิดการหดตัว ทำให้ความดันโลหิตสูง

ปอด หลอดลมจะตีบลง หายใจลำบาก

กระเพาะอาหารมีการหลั่งกรดออกมาจำนวนมาก ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้

ลำไส้มีการบีบตัว ทำให้ท้องเสีย ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน

กระเพาะปัสสาวะมีการบีบตัว ทำให้ปัสสาวะบ่อย กระปริบกระปรอย

กล้ามเนื้อจะถูกกระตุ้นมากจนเกิดการสั่น เกร็ง กระตุก

 

2.อาการทางอารมณ์

ความเครียดทำให้ทำให้จิตใจเกิดความรู้สึกวิตกกังวล กลัว ตื่นเต้น ไม่สบายใจ(distress)

บางคนมีอารมณ์ซึมเศร้าท้อแท้ร่วมด้วย มีอาการเซ็ง ไม่สนุกสนานสดชื่นร่าเริงเหมือนเดิม อารมณ์ซึมเศร้ามักจะเกิดร่วมกับการสูญเสียหรือพลาดหวังอย่างรุนแรง

อารมณ์ไม่สบายใจเหล่านี้อาจทำให้เกิดอาการอื่นๆตามมา ได้แก่ เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ

 

3.อาการทางจิตใจ

มีความคิดกังวลล่วงหน้า ย้ำคิดย้ำทำ คิดในแง่ร้าย ไม่สามารถหยุดความคิดตนเองได้

ความเครียดถ้ามีมากและต่อเนื่อง จะทำให้สมองมึน งง เบลอ ขาดสมาธิ ความคิดความอ่านและความจำลดลง การตัดสินใจช้า ไม่แน่นอน ไม่มั่นใจตนเอง

 

 

ปัจจัยที่ทำให้นักกีฬาเครียด

ความเครียดเกิดขึ้นจากปัจจัยหลายประการ มักมิได้เกิดจากสาเหตุเดียว ปัจจัยต่างๆต่อไปนี้ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้นักกีฬาเกิดความเครียด

1.นักกีฬา

นักกีฬาแต่ละคนจะมีการตอบสนองต่อสิ่งเร้าแตกต่างกัน  บางคนเครียดง่าย  บางคนเครียดยาก  บางคนปรับตัวเก่ง  สิ่งเหล่านี้ส่วนหนึ่งเป็นพื้นฐานที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด  อีกส่วนเกิดจากการเลี้ยงดูภายในครอบครัว  การได้มีโอกาสเผชิญปัญหา ได้แก้ใขปัญหาจนสำเร็จ การได้ฝึกฝนจนเกิดความเคยชินกับปัญหา  จะทำให้คนๆนั้นเผชิญความเครียดเก่ง มีการปรับตัวได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

นักกีฬาบางคนเครียดจากวิธีคิดของตนเอง เช่น ชอบคิดล่วงหน้ามากเกินไป คิดในทางร้าย  ไม่รู้จักวิธีหยุดคิด คาดหวังชัยชนะมากจนเกินไป คาดหวังความสำเร็จเพื่อคนอื่น ไม่รู้สึกยินดีกับชัยชนะของคนอื่น

บางคนคิดว่าถ้าแพ้ คนอื่นจะดูถูกเย้ยหยัน จะไม่มีคนสนใจ

บางคนคิดว่าการพ่ายแพ้เป็นสิ่งที่น่าอับอาย ทำให้เสียชื่อเสียงทีมหรือประเทศ

บางคนคิดว่าพ่อแม่ เพื่อนฝูง ผู้ฝึกสอน รู้สึกอับอายไปด้วย

บางคนคาดหวังกับผลตอบแทนที่ได้รับ  เช่น เงินรางวัล รายได้ ตำแหน่ง

บางคนถูกคาดหวังมากจากเพื่อนร่วมทีม ครู ผู้ชม

 

2.ประเภทของกีฬา

กีฬาที่ทำให้เกิดความเครียดสูงมีลักษณะดังนี้

กีฬาที่อันตราย มีการต่อสู้ ปะทะกัน มีกติกาเข้มงวด เช่น ชกมวย ฟุตบอล

กีฬาที่มีผู้ชมจำนวนมาก  การแข่งขันระดับประเทศ หรือระดับโลก

กีฬาที่มีรางวัลสูง นักกีฬาจะเกิดความคาดหวัง และคาดการสูญเสียถ้าพ่ายแพ้

 

3.สถานการณ์ที่สร้างความเครียด

3.1ก่อนการแข่งขัน

bullet ผู้ฝึกสอนและทีมสนับสนุน ผู้ฝึกสอนที่เข้มงวดมากเกินไป ใช้วิธีการฝึกที่รุนแรง จะสร้างการเรียนรู้ที่น่ากลัว ทำให้นักกีฬากลัวการพ่ายแพ้ การคาดหวังที่มากเกินไปก็จะสร้างความกดดันนักกีฬาทำให้เกิดความเครียดที่ไม่เป็นประโยชน์ การสนับสนุนทีมโดยสม่ำเสมอจะสร้างขวัญและกำลังใจแก่นักกีฬาอย่างมาก
bullet การสนับสนุนจากสิ่งแวดล้อม ถ้าขาดสิ่งจำเป็น เช่น เงิน เครื่องกีฬา สถานที่ฝึกซ้อม
bullet การฝึกฃ้อม การฝึกซ้อมที่หนักมากเกินไป ไม่มีการผ่อนคลาย
bullet การแข่งขันภายใน มีการแข่งขันชิงดีชิงเด่นกัน แย่งกันเป็นนักกีฬาตัวจริง
bullet ความคาดหวังของตนเอง การตั้งเป้าหมายไว้สูงเกินไป
bullet ความคาดหวังของผู้อื่น ซึ่งตั้งเป้าหมายไว้และกดดันนักกีฬา

      3.2ขณะแข่งขัน

bullet คู่แข่งขัน คู่แข่งขันที่เหนือกว่ามาก หรืออ่อนกว่ามาก
bullet ผู้ชม การแข่งขันนอกบ้านตนเอง
bullet การตัดสินที่ไม่เป็นธรรม มีการตัดสินผิดพลาด หรือลำเอียง ผู้ฝึกสอนที่ยั่วยุให้นักกีฬาเกิดความโกรธ
bullet สถานการณ์เสียเปรียบ
bullet การถูกเอาเปรียบ/ยั่วยุ/เยาะเย้ย จากคู่แข่งขัน หรือกองเชียร์ฝ่ายตรงข้าม

   3.3หลังการแข่งขัน

bullet ปฏิกิริยาของทีม กองกล่าวโทษกันในทีม การขาดการช่วยเหลือประคับประคองจิตใจกัน
bullet การเป็นจุดอ่อนของทีม
bullet การบาดเจ็บและขาดโอกาสแข่งขัน
bullet การเป็นจุดเด่นของสังคม เป็นดารา เป็นที่จับตามอง ขาดความเป็นส่วนตัว

 การปรับตัวของนักกีฬา

นักกีฬาแต่ละคนมีวิธีการปรับตัวแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับพื้นฐานบุคลิกภาพ  ถ้าไม่มีการฝึกในการเผชิญความเครียดอย่างถูกต้อง  นักกีฬาจะใช้วิธีการแก้ใขปัญหาแบบเดิม ซึ่งอาจไม่ถูกต้อง และเป็นผลเสียต่อสมรรถภาพของนักกีฬา เช่น บางคนใช้วิธีโหมซ้อมมากๆ (over training)  โดยคิดว่าการฝึกซ้อมยิ่งหนักยิ่งดี แต่ความจริงแล้วการฝึกซ้อม  ควรจะมีความพอดีๆ การซ้อมหนักมากเกินไปร่างกายจะทรุดโทรม จิตใจตึงเครียด ทำให้ยิ่งซ้อมยิ่งแย่ลง  นักกีฬาบางคนเวลาซ้อมทำได้ดี  แต่เวลาแข่งขันเกิดความเครียด  ตื่นเต้นจนทำได้ต่ำกว่าความสามารถที่แท้จริง  บางคนมีอาการของความเครียดออกมาทางร่างกาย  ทำให้เหงื่อออกมาก  ใจเต้นใจสั่น มือสั่น รบกวนการแข่งขัน  บางคนหลบเลี่ยงการแข่งขัน  บางคนยอมเสี่ยงมากเกินไปในการแข่งขันจนอาจเกิดอุบัติเหตุ

 

วิธีป้องกัน

  1. เลือกใช้วิธีการฝึกให้เหมาะสม
  2. การฝึกซ้อมให้เกิดความเคยชิน
  3. หลีกเลี่ยงการคุกคามข่มขู่
  4. การฝึกการผ่อนคลายตนเอง
  5. การฝึกประสาทอัตโนมัติ
  6. สร้างความสามัคคีในทีม
  7. สร้างแรงจูงใจจากภายใน
  8. ผู้ฝึกสอนเป็นตัวอย่างที่ดี

 

เทคนิคการผ่อนคลายตนเอง

  1. ปรับเปลี่ยนวิธีคิด
  2. ฝึกการคลายกล้ามเนื้อ
  3. ฝึกสมาธิ
  4. นวด
  5. สร้างจินตนาการ
  6. การฟังเพลง/ดนตรี
  7. กลุ่มช่วยเหลือกันเอง

 

เทคนิคลดความเครียดสำหรับผู้ฝึกสอน

  1. มีความเข้าใจตัวนักกีฬาแต่ละคน
  2. การประเมินความเครียดในนักกีฬา
  3. สร้างสปิริตของทีม(cohesion)
  4. สร้างบรรยากาศผ่อนคลายสลับการฝึก
  5. ใช้แรงเสริมทางบวก ( positive reinforcement)
  6. สร้างแรงจูงใจมากกว่าการบังคับ

 

สรุป

ความเครียดเกิดขึ้นได้เสมอในนักกีฬา การเตรียมตัวและฝึกฝนนักกีฬาให้เผชิญกับความเครียดไม่ใช่เรื่องยาก แต่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้นักกีฬามีประสิทธิภาพในการกีฬาสูงสุด และมีความสุขกับการเล่นกีฬา สามารถใช้กีฬาเพื่อการพัฒนาตนเองต่อไป

 

เอกสารอ้างอิง

Selye H. Stress without distress. New York JB Lippincott 1974

Benson HH. Beyond the relaxation response. New York Times Books 1984

Arnheim DD, Prentice WE.Principles of athletic training.8th edition Mosby Year Book St. Louis 1993 134-147.

Boyce P, Tung V. Psychiatry and sports medicine. In:Sherry E,Bokor D editors. Sports medicine problems and practical management.Greenwich Medical Media London 1996; 323-331.

Smith RE, Bovbjerg VE. Stress management training for the young athlete. In :Smith NJ editor. Pediatric sports medicine. Year Book Medical Publishers Chicago 198939-50.

Giam CK, Teh KC. Sports medicine, exercise and fitness. PG Medical Books 1988;93-99.

<ห้องรับแขก

  คลินิคจิต-ประสาท 563 ถ.สามเสน แขวงวชิรพยาบาล  เขตดุสิต  กทม 10300  โทร. 0-2243-2142  0-2668-9435

   ส่งเมล์ถึง panom@psyclin.co.th พร้อมด้วยข้อสงสัยหรือข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเว็บไซท์นี้
   ปรับปรุงแก้ไขครั้งล่าสุด:21/05/50