บริษัทคลินิคจิต-ประสาท

 ห้องรับแขก

กลับไป ความรู้เรื่องโรคทางจิตเวชและปัญหาพฤติกรรม      

 

 

 

การจัดสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนหลังภัยสึนามิ

           

ผศ. นพ. พนม เกตุมาน  สาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น  ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ 

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

โรงเรียนเป็นสถานที่ที่ช่วยให้นักเรียนที่ประสบภัยพิบัติกลับฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว   โดยการจัดสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนให้เหมาะสม  ดังนี้  

1.      ให้ความรู้ครูเรื่องผลกระทบของเหตุการณ์ที่มีต่อเด็ก การเข้าใจอาการของเด็กและการช่วยเหลือ

2.      ให้เด็กกลับไปมีกิจกรรมตามปกติในโรงเรียนเหมือนเดิมโดยเร็ว   และสม่ำเสมอ ไม่ควรให้เด็กหยุดเรียนบ่อยๆโดยไม่มีเหตุผล  เพราะเด็กจะหลีกเลี่ยงการเรียน

3.      บรรยากาศภายในโรงเรียนควรสงบ ไม่พลุกพล่านรบกวนสมาธิและการเรียน  เนื่องจากนักเรียนจะสมาธิสั้น  ขาดความสนใจในการเรียนได้ง่าย 

4.      สร้างกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพจิต  ได้แก่  กีฬา  ดนตรี(แบบผ่อนคลาย)  ศิลปะ(เน้นการแสดงออก  สร้างสรรค์  ให้เด็กระบายความคิด  ความรู้สึก)

5.      แสวงหาและดึงทรัพยากรในชุมชนเข้ามาร่วมช่วยเหลือในโรงเรียน  เช่นจากพ่อแม่ผู้ปกครอง  และนักเรียน สร้างความเข้มแข็งภายในชุมชน  เกิดความรู้สึกมีส่วนร่วมช่วยเหลือกันเอง

6.      แสวงหาและดึงทรัพยากรนอกชุมชน  เข้ามาช่วยเหลือเพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชน  ให้โรงเรียนและชุมชนพึ่งตัวเองได้  ไม่คอยความช่วยเหลือภายนอกเพียงอย่างเดียว

7.      สร้างกิจกรรมกลุ่มให้นักเรียนทำร่วมกัน  ช่วยเหลือกัน  ช่วยเหลือผู้อื่น  และ  ช่วยเหลือชุมชน  เช่น  การแข่งขันกีฬาสี  นิทรรศการ  ทัศนศึกษา  บำเพ็ญประโยชน์  พัฒนาชุมชน

8.      สร้างกิจกรรมคลายเครียด  การฝึกกำหนดลมหายใจ  การฝึกสติ  สมาธิ   ให้มีสม่ำเสมอ

9.      ให้ความรู้แก่นักเรียน  พ่อแม่ผู้ปกครอง  และครูเกี่ยวกับสึนามิ  ได้แก่  สาเหตุ   โอกาสที่จะเกิด สิ่งที่จะเตือนก่อนเกิดภัย  เช่น  ระดับน้ำที่ลดลงอย่างรวดเร็ว    ระบบการเตือนที่ใช้อยู่  การฝึกซ้อม  ระบบการเผชิญสถานการณ์เมื่อมีการเตือนภัย  สถานที่นัดพบ  สร้างโรงเรียนให้เป็นศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับสึนามิ

10.  ความช่วยเหลือที่มีแก่นักเรียน  ควรให้โดยไม่รบกวนการเรียนปกติ  ให้ตามความจำเป็น  ไม่ควรมากเกินไป

11.  หน่วยงานหรือองค์กรที่จะเข้าไปในโรงเรียน  ควรผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบโดยโรงเรียน  ที่จะไม่รบกวนการเรียน  กิจกรรม  หรือให้ความช่วยเหลือที่ไม่สร้างความเข้มแข็งของโรงเรียน

12.  พยายามมิให้นักเรียนย้ายโรงเรียนโดยไม่จำเป็น 

13.  สร้างกิจกรรมที่สร้างกำลังใจ ครูและพ่อแม่  ผู้เกี่ยวข้อง ให้มีความพร้อมและความเข้มแข็งทางจิตใจ  เพื่อเป็นหลักสำหรับเด็ก 

14.  ป้องกันและช่วยเหลือครูทางด้านจิตใจ   เช่นความเครียด  ความเหน็ดเหนื่อยล้าจากการทำงาน  ขาดการพักผ่อน

 

ผศ.  นพ.  พนม  เกตุมาน

โครงการฟื้นฟูสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นที่ประสบธรณีพิบัติภัย ในโรงเรียน อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา  สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

<ห้องรับแขก

  คลินิคจิต-ประสาท 563 ถ.สามเสน แขวงวชิรพยาบาล  เขตดุสิต  กทม 10300  โทร. 0-2243-2142  0-2668-9435

   ส่งเมล์ถึง panom@psyclin.co.th พร้อมด้วยข้อสงสัยหรือข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเว็บไซท์นี้
   ปรับปรุงแก้ไขครั้งล่าสุด:21/05/50