บริษัทคลินิคจิต-ประสาท

 ห้องรับแขก

กลับไป ความรู้เรื่องโรคทางจิตเวชและปัญหาพฤติกรรม      

 

 

การสอนเพศศึกษา  ตามพัฒนาการทางเพศ

ผศ  นพ  พนม  เกตุมาน

หัวหน้าสาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น  ภาควิชาจิตเวชศาสตร์  คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 การสอนเรื่องเพศแก่เด็กและวัยรุ่น  เป็นกระบวนการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์  ตั้งแต่เกิดจนตาย  เป็นการศึกษาทั้งในระบบโรงเรียน  และนอกระบบโรงเรียน  ที่จะให้บุคคลได้เรียนรู้ธรรมชาติความเป็นจริงของชีวิตและสังคม  เพื่อให้บุคคลมีความรู้  มีทัศนคติ  และมีพฤติกรรมถูกต้องในเรื่องเพศ  ตลอดจนสามารถปรับตัวตามพัฒนาการของชีวิตอย่างเหมาะสม(1)  การสอนดังกล่าวมีเนื้อหาที่ครอบคลุมกว้างขวาง  เกิดขึ้นต่อเนื่องตามพัฒนาการเด็กตั้งแต่เกิด และต่อเนื่องไปตามวัยจนถึงวัยรุ่น  เด็กเรียนรู้จากการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย  และจากตัวอย่างและการสอนโดยพ่อแม่  ครอบครัว  และสังคมสิ่งแวดล้อม  ไปตามระดับสติปัญญา  และการเปลี่ยนแปลงของตนเองและสิ่งแวดล้อม  พัฒนาเป็นเอกลักษณ์ทางเพศ  บทบาททางเพศที่เหมาะสม  ปรับตัวเอง และควบคุมตัวเองในเรื่องเพศได้  การสอนเรื่องเพศจำเป็นให้สอดคล้องตามพัฒนาการทางเพศปกติ  ผู้สอนเรื่องเพศจึงต้องศึกษาเรื่องพัฒนาการทางเพศตั้งแต่เด็กจนถึงวัยรุ่น  เพื่อให้จัดการเรียนรู้ได้อย่างถูกต้อง

  วัตถุประสงค์การสอนเพศ

                การสอนเรื่องเพศสามารถสอนได้ตั้งแต่เด็กยังเล็ก สอดแทรกไปกับการส่งเสริมพัฒนาการด้านอื่นๆ  พ่อแม่ควรเป็นผู้สอนเบื้องต้น  เมื่อเข้าสู่โรงเรียน  ครูจะช่วยสอนให้สอดคล้องไปกับที่บ้าน  เมื่อเด็กเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น  ควรส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้ด้วยตัวเอง  แต่มีแนวทางที่ถูกต้อง

                การสอนเพศศึกษาในโรงเรียนนั้น กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกันกำหนดหลักสูตรการเรียนรู้เรื่อง “เพศศึกษา” ในนักเรียน(2)  โดยแบ่งการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์    ด้าน  ซึ่งสามารถใช้เป็นหลักในการสอนที่บ้านได้ด้วยเช่นกัน  ดังนี้

1.       พัฒนาการทางเพศ(Human sexual development) ความรู้ความเข้าใจในเรื่องการเจริญเติบโต  พัฒนาการทางเพศตามวัย  ทางร่างกาย  จิตใจ  อารมณ์  และสังคม

2.       สัมพันธภาพ (Interpersonal relation) การสร้างและรักษาความสัมพันธ์กับบุคคลในสังคม  การสร้างและรักษาสัมพันธภาพกับเพื่อนเพศเดียวกัน และต่างเพศ  การเลือกคู่  การเตรียมตัวก่อนสมรส และการสร้างครอบครัว  ความสัมพันธ์ระหว่างสามี-ภรรยา  พ่อ-แม่-ลูก

3.       ทักษะส่วนบุคคล (Personal and communication skills)  ความสามารถในการจัดการสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ เช่น ทักษะการสื่อสาร การสร้างความสัมพันธ์  และควบคุมความสัมพันธ์ให้อยู่ในความถูกต้องเหมาะสม ทักษะการปฏิเสธ ทักษะการขอความช่วยเหลือ  ทักษะการจัดการกับอารมณ์  ทักษะการตัดสินใจและแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับเรื่องเพศ

4.       พฤติกรรมทางเพศ (Sexual behaviors) การแสดงออกถึงพฤติกรรมทางเพศหรือบทบาททางเพศ (Gender role) ที่เหมาะสมกับบทบาททางเพศและวัย เป็นที่ยอมรับของสังคม ไม่เกิดความเสี่ยงทางเพศ(เช่น  เพศสัมพันธ์ในวัยรุ่น  เพศสัมพันธ์ที่ปราศจากการป้องการตั้งครรภ์หรือการติดเชื้อ) การสร้างเอกลักษณ์ทางเพศที่เหมาะสม ความเสมอภาคทางเพศ  และบทบาททางเพศที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในสังคมอย่างสมดุล

5.       สุขอนามัยทางเพศ (Sexual health) ความรู้ความเข้าใจและสามารถดูแลสุขภาพอนามัยทางเพศได้ตามวัย เช่น การดูแลรักษาอวัยวะในระบบสืบพันธุ์ อนามัยการเจริญพันธุ์ สังเกตการเปลี่ยนแปลงต่างๆและความผิดปกติในลักษณะและหน้าที่ของอวัยวะเพศ การหลีกเลี่ยงอันตรายจากการชอกช้ำ บาดเจ็บ  อักเสบ  และติดเชื้อ  รวมถึงการถูกล่วงเกินทางเพศ 

6.       สังคมและวัฒนธรรม (Society and culture)   ค่านิยมในเรื่องเพศที่เหมาะสมสอดคล้องกับสังคมและวัฒนธรรมไทย การให้เกียรติเพศตรงข้าม การรักนวลสงวนตัว ไม่ปล่อยใจให้เกิดเพศสัมพันธ์โดยง่าย การปรับตัวต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคม โดยเฉพาะจากสื่อที่ยั่วยุทางเพศต่างๆ  และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ

ในการสอนเพศศึกษาในนักเรียนดังกล่าว  ยังได้กำหนดช่วงชั้นที่สอนออกเป็น  4  ระดับ  ช่วงชั้นแรกตั้งแต่ ป1-3(2)  ช่วงชั้นที่2  ตั้งแต่  ป4-6 (3)    ช่วงชั้นที่3  ตั้งแต่  ม1-3 (4)   ช่วงชั้นที่ 4  ตั้งแต่  ม4-6(5)โดยออกแบบให้เนื้อหาสอดคล้องกับการเรียนรู้  และแทรกลงไปในการเรียนของเด็ก  ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาตอนต้น ไปจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย

 

หลักการสอน

                    หลักการสอนมีดังต่อไปนี้(6)

1.       สอนให้เด็กรับรู้ไปตามพัฒนาการทางเพศ  และพัฒนาการทางจิตใจ เริ่มตั้งแต่เกิด แบ่งสอนตามวัยและความสามารถในการรับรู้ของเด็ก  ผู้สอนต้องมีความรู้ว่าวัยใดควรให้ความสนใจเรื่องใด  เช่น  วัยอนุบาลควรให้ความสนใจกับการถ่ายทอดแบบอย่างทางเพศ  พ่อแม่มีความสำคัญที่เด็กจะพัฒนาบทบาททางเพศตามเพศของตนเองอย่างถูกต้อง

2.       ผู้สอนควรมีความรู้ทางเพศอย่างถูกต้อง  ควรสนใจ  หาความรู้หรือสอบถามจากผู้รู้  หนังสือ  หรือสื่อที่มีคุณภาพดี  การหาความรู้เรื่องนี้ทำให้พ่อแม่มีทัศนคติที่เป็นกลางกับเรื่องเพศ  และรู้จักสื่อที่เหมาะสม ควรเลือกสื่อที่ง่าย   ให้ความรู้ถูกต้อง เหมาะกับวัย   ไม่กระตุ้นความรู้สึกทางเพศ  พ่อแม่สามารถหาความรู้จากหนังสือ  วีดิโอ   ซีดี   ฯลฯ ควรอ่านให้เข้าใจก่อน   ถ้าจะนำไปสอน  ควรวางแผนในใจว่าจะสอนอย่างไร  ใช้คำพูดแบบใดจึงจะเหมาะสม  คิดล่วงหน้าไว้ก่อนว่าเด็กอาจสงสัยเรื่องใด  เพื่อเตรียมตอบคำถามง่ายๆของเด็กอยากรู้   บางครั้งอาจแนะนำให้เด็กเอาหนังสือไปอ่านก่อนล่วงหน้า   แล้วค่อยมาพูดคุยกันตอนหลัง  ให้เด็กเตรียมคำถามที่สงสัยมาคุยกัน  คำถามใดที่ตอบไม่ได้  ให้บอกตรงๆว่าไม่รู้  แต่จะไปถามใครที่รู้มาบอกภายหลัง  หรือให้เด็กลองค้นหาคำตอบด้วยตัวเองไปก่อนจากสื่อที่มีอยู่

3.       การสอนเรื่องเพศควร  สอดแทรกไปตามการเรียนรู้ปกติ   ตามจังหวะ  เวลา  และสถานการณ์ที่เหมาะสม  รู้จักใช้เหตุการณ์ที่เกิดในชีวิตประจำวันเป็นตัวอย่างในการเรียนรู้  หรือกระตุ้นให้เด็กเรียนรู้   เช่นเหตุการณ์สุนัขที่บ้านคลอดลูก 

4.       สอนให้เหมาะกับความสนใจ  ความอยากรู้  และความสามารถทางสติปัญญา  ที่เด็กจะรับได้และเข้าใจได้  เด็กเล็กต้องมีวิธีบอก ใช้คำพูดง่ายๆ  ให้สั้นๆ  เข้าใจง่าย  เป็นรูปธรรม มีตัวอย่างประกอบ  ไม่ควรอธิบายยืดยาวจนเด็กสับสน  เด็กโตสามารถอธิบายมากขึ้น  ให้ความรู้ที่ซับซ้อนได้   พี่น้องอายุต่างกัน  การอธิบายย่อมไม่เหมือนกัน  เวลาสอนต้องสังเกตด้วยว่าเขาเข้าใจหรือไม่  ถ้าสงสัยให้มีโอกาสถามทันที 

5.       สอนก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลง  หรือปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้น  เช่น   สอนเรื่องประจำเดือนก่อนวัยมีประจำเดือน  สอนการป้องกันตัวเองทางเพศก่อนจะเกิดปัญหาการถูกละเมิดทางเพศ 

6.       ผู้สอนมีท่าทีและทัศนคติเป็นกลาง  ผู้สอนไม่ควรรังเกียจหรืออายเวลาสอนเรื่องเพศ  พยายามพูดด้วยท่าทีสงบ  เป็นกลาง  เตรียมคำพูดล่วงหน้า และฝึกฝนให้คล่องด้วยตนเอง  ไม่แสดงความรู้สึกด้านลบ  เมื่อเด็กแสดงความสนใจเรื่องเพศ   ควรเปิดใจกว้าง  คิดเสมอว่าถ้าเขาอยากรู้  เป็นเรื่องปกติธรรมดา  การให้เขารู้อย่างถูกต้องไม่มีผลเสีย  ดีกว่าให้เขารู้จากแหล่งอื่นซึ่งมีโอกาสเรียนรู้แบบผิดๆได้

7.       ควรให้ความรู้อย่างถูกต้อง   ไม่ควรบ่ายเบี่ยง  หลอกเด็ก  หรือพูดให้เด็กเข้าใจผิด  ถ้ารู้ว่าเขาเข้าใจผิดควรรีบแก้ไขทันที  เด็กอาจงงถ้าได้ข้อมูลไม่ถูกต้อง  ไม่ครบ  หรือข้อมูลขัดแย้งกัน

8.       พ่อแม่  และ ครูช่วยกันสอนให้สอดคล้องกัน เมื่อไม่ทราบหรือไม่เข้าใจ  ควรปรึกษาแพทย์

 

เป้าหมายของพัฒนาการทางเพศ

                พัฒนาการทางเพศ  เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการบุคลิกภาพ  ที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่เด็ก  มีความต่อเนื่องไปจนพัฒนาการเต็มที่ในวัยรุ่น  หลังจากนั้น  จะเป็นส่วนหนึ่งของบุคลิกภาพที่ติดตัวตลอดชีวิต  เมื่อสิ้นสุดวัยรุ่น  จะเกิดการเปลี่ยนแปลงให้เกิดสิ่งต่อไปนี้(7)

1.       มีความรู้เรื่องเพศ  ตามวัย  และพัฒนาการทางเพศ  ตั้งแต่ร่างกาย  การเปลี่ยนแปลงไปตามวัย  และจิตใจสังคม  ของทั้งตนเอง  และผู้อื่น  ทั้งของเพศตรงกันข้าม  ความแตกต่างกันระหว่างเพศ 

2.       มีเอกลักษณ์ทางเพศของตนเอง ได้แก่  การรับรู้เพศตนเอง(core  gender)   บทบาททางเพศและพฤติกรรมทางเพศ(gender  role)   มีความพึงพอใจทางเพศหรือความรู้สึกทางเพศต่อเพศตรงข้ามหรือต่อเพศเดียวกัน(sexual  orientation)

3.       มีพฤติกรรมการรักษาสุขภาพทางเพศ(sexual  health)  การรู้จักร่างกายและอวัยวะเพศของตนเอง  ดูแลรักษาทำความสะอาด  ป้องกันการบาดเจ็บ  การติดเชื้อ  การถูกล่วงเกินละเมิดทางเพศ  การป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ 

4.       ทักษะในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้ที่จะร่วมเป็นคู่ครอง  การเลือกคู่ครอง  การรักษาความสัมพันธ์นี้ให้ยาวนาน  แก้ไขปัญหาต่างๆในชีวิตร่วมกัน  การสื่อสาร  การมีความสัมพันธ์ทางเพศกับคู่ครองอย่า