บริษัทคลินิคจิต-ประสาท

 ห้องรับแขก

กลับไป ความรู้เรื่องโรคทางจิตเวชและปัญหาพฤติกรรม      

 

 

ความรู้เรื่องโรคทางจิตเวชและปัญหาพฤติกรรม

โรคปัญญาอ่อน

(Mental Retardation)

นพ.พนม  เกตุมาน

    โรคปัญญาอ่อนเป็นโรคที่พบได้บ่อยในสังคม  ประมาณว่ามีคนเป็นโรคนี้ประมาณร้อยละ 1  ของประชากรทั้งประเทศ  นั่นคือ ประเทศไทยเรามีคนปัญญาอ่อนประมาณ  6 แสนคน ในจำนวนนี้ ส่วนใหญ่เป็นระดับน้อย แต่เมื่อเกิดโรคนี้ในครอบครัวใด  ทำให้เกิดความสูญเสียตามมาได้มาก

อาการและการตรวจพบ

1. พฤติกรรมที่แสดงความสามารถต่ำกว่าคนในอายุเดียวกัน  เช่น ความสามารถในการเรียนรู้  การแก้ไขปัญหา การปรับตัว  ในเด็กเล็กจะเห็นพัฒนาการช้ากว่าเกณฑ์ปกติ

2. วัดระดับสติปัญญา(ไอคิว) ได้ต่ำกว่า 70

3.  อาการมักเป็นตั้งแต่เกิด  เป็นต่อเนื่องไปตลอดชีวิต

สาเหตุ

1. โรคทางสมอง หรือโรคทางกายที่มีผลกระทบต่อระบบประสาท เช่น แม่ที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษ   แม่ติดสารเสพติด  ได้รับยาหรือสารพิษระหว่างตั้งครรภ์  การคลอดผิดปกติ โรคขาดสารไอโอดีน  ขาดเหล็ก หรือทารกที่ได้รับสารตะกั่ว สารปรอทตั้งแต่เด็ก

2.  พันธุกรรม  ความผิดปกติทางโครโมโซม

การช่วยเหลือ

1. การกระตุ้นพัฒนาการ  ได้ผลดีมากในเด็กเล็ก ควรให้การวินิจฉัยภายในขวบปีแรก เมื่อสังเกตเห็นเด็กมีพัฒนาการช้ากว่าเกณฑ์ปกติ  การตรวจในคลินิคเด็กดีในขวบปีแรก  ทุก 2-4 เดือน กุมารแพทย์จะประเมินพัฒนาการด้วยเสมอ เพื่อตรวจคัดกรองโรคปัญญาอ่อน  และรีบให้การช่วยเหลือโดยการกระตุ้นพัฒนาการอย่างเป็นระบบ  ถ้าไม่รีบช่วยเหลือ พัฒนาการจะช้า แม้จะมากระตุ้นเมื่ออายุมากขึ้นมักจะได้ผลน้อย

2.  การจัดการเรียนให้เหมาะสมกับสติปัญญาและความสามารถ  เด็กบางคนอาจเรียนร่วมได้ในโรงเรียนปกติ  บางคนอาจต้องเรียนในโรงเรียนสำหรับเด็กพิเศษ  บางคนเหมาะสำหรับฝึกอาชีพ  แต่คนที่เป็นมากๆบางคนต้องอยู่ในโรงพยาบาล หรือสถาบันฝึกสำหรับคนปัญญาอ่อนโดยตรง

   ไอคิว 50-70  เรียนได้จบชั้นประถม 6

    ไอคิว 30-50 ฝึกให้มีอาชีพเลี้ยงตัวเอง ช่วยตัวเอง ปกป้องตัวเองได้  แต่ไม่สามารถเรียนในระบบการเรียนปกติ

   ไอคิว 20-30   ฝึกให้ช่วยตัวเองได้  ไม่สามารถเรียนในระบบการเรียนปกติ

   ไอคิว ต่ำกว่า 20  ช่วยตัวเองไม่ได้ ต้องมีผู้ดูแลพิเศษ  หรืออยู่ในโรงพยาบาล

การป้องกัน

1. การป้องกันโรคทางกาย ที่จะเกิดขึ้นในแม่ขณะตั้งครรภ์

2. การฝากครรภ์ และดูแลสุขภาพแม่ให้แข็งแรง

3. การคลอดที่ปกติ การดูแลหลังคลอดที่ดี

4. ระวังอุบัติเหตุทางสมอง  และการได้รับสารพิษ

ความรู้เรื่องโรคทางจิตเวชและปัญหาพฤติกรรม

 

<ห้องรับแขก

  คลินิคจิต-ประสาท 563 ถ.สามเสน แขวงวชิรพยาบาล  เขตดุสิต  กทม 10300  โทร. 0-2243-2142  0-2668-9435

   ส่งเมล์ถึง panom@psyclin.co.th พร้อมด้วยข้อสงสัยหรือข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเว็บไซท์นี้
   ปรับปรุงแก้ไขครั้งล่าสุด:21/05/50